Martov, Yuly Osipovich (1873-1923)

นายยูลี โอซิโปวิช มาร์ตอฟ (๒๔๑๖-๒๔๖๖)

​​​​     ยูลี โอซิโปวิช มาร์ตอฟ เป็นนักปฏิวัติรัสเซียเชื้อสายยิวและผู้นำของพรรคเมนเชวิค (Menshevik)* มาร์ตอฟ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* และปาเวล โบริโซวิช อัคเซลรอด (Pavel Borisovich Akselrod)*

ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มแกนนำไตรภาคขององค์กรลัทธิมากซ์นอกประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการก่อตั้งองค์กรปฏิวัติลัทธิมากซ์หรือกลุ่มสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democrats) ขึ้นในรัสเซียช่วงทศวรรษ ๑๙๐๐ มาร์ตอฟยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการคนหนึ่งของ Iskra ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศของกลุ่มสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน (League of the Struggle for the Emancipation of the Working Class) ที่อยู่นอกประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ มาร์ตอฟขัดแย้งทางความคิดกับเลนินและแยกตัวออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย รัสเซีย (Russian Social Democratic Labors’ Party RSDLP)* โดยเรียกชื่อกลุ่มของตนว่าเมนเชวิคหรือพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (เมนเชวิค) ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* มาร์ตอฟร่วมกับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* จัดทำหนังสือพิมพรายวันภาษารัสเซียชื่อ Golos (Voice) ที่กรุงปารีสเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านสงคราม และรณรงค์ให้กลุ่มสังคมนิยมร่วมกันจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ขึ้น เขาต่อต้านการยึดอำนาจทางการเมืองของพรรคบอลเชวิคในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐบาลที่บอลเชวิคจัดตั้งขึ้น
     มาร์ตอฟมีชื่อสกุลจริงว่าเซเดียร์บาอุม (Tsederbaum) เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิวที่มีฐานะเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๓ ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ประเทศตุรกีหรือจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องชายหญิง ๖ คน บิดาเป็นนักธุรกิจขายอุปกรณ์เครื่องดนตรีมารดาเป็นครูแต่ต่อมาลาออกมาดูแลบุตร ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ ครอบครัวอพยพกลับมารัสเซียและตั้งรกรากที่เมืองโอเดสซา (Odessa) และต่อมาที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ตามลำดับ มาร์ตอฟสำเร็จการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมในโอเดสซา และ ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ ก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในช่วงเรียนหนังสือชั้นมัธยมเขาสนใจ ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* เป็นพิเศษ และวีรบุรุษของเขาคือมักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ (Maximillien Robespierre)* แซง-ชูส (Saint-Just)* และฟรองซัว บาเบิฟ (François Babeuf)* นักสังคมนิยมหัวรุนแรง นอกจากนี้ การที่บิดานิยมอ่านงานของอะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* และมักแนะนำเขาให้อ่านงานของเฮอร์เซน และนีโคไล เชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Chernyshevsky)* รวมทั้งนักเขียนหัวก้าวหน้าอื่น ๆ ก็ทำให้มาร์ตอฟสนใจเรื่องการเมืองและสังคมตั้งแต่วัยรุ่นระหว่างศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์เขาเข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงและถูกชักนำให้เข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติมาร์ตอฟยอมรับแนวความคิดทางการเมืองของ พวกนารอดนิค (Narodnik)* หรือรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populist)* และในเวลาขณะเดียวกันก็อ่านงานของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* เรื่อง แถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* ตลอดจนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มลัทธิมากซ์ที่จัดตั้งขึ้นในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อเคลื่อนไหวทางความคิดในหมู่กรรมกร นอกจากนี้ มาร์ตอฟยังร่วมกับเพื่อนชาวยิวหัวก้าวหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองในชุมชนยิวด้วยเพื่อโค่นการผูกขาดอำนาจทางสังคมของกลุ่มชาวยิวชั้นสูงที่มั่งคั่ง
     ในต้น ค.ศ. ๑๘๙๒ มาร์ตอฟถูกจับด้วยข้อหาร่วมเคลื่อนไหวยุยงทางการเมือง แต่บิดาวิ่งเต้นประกันตัวเขาด้วยจำนวนเงินก้อนใหญ่ และในท้ายที่สุดศาลยอมปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องทำงานให้กับสังคมระยะเวลาหนึ่งซึ่งมาร์ตอฟก็ทำงานให้กับหน่วยงาน กาชาดในคุกเพื่อช่วยดูแลนักโทษการเมืองประมาณ ๑๕๐ คน งานดังกล่าวเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักและสนิทสนมกับนักโทษที่เป็นนักปฏิวัติหลายคน บุคคลเหล่านี้ได้แนะนำให้เขาอ่านงานนิพนธ์แปลเรื่องทุน (Capital)* ของมากซ์ และรู้จักกับผู้ปฏิบัติงานองค์การลัทธิมากซ์นอกประเทศด้วย ในเวลาต่อมามาร์ตอฟจึงประกาศตนเป็นนักปฏิวัติลัทธิมากซ์ในช่วงเวลาเดียวกันเขาก็ย้ายคณะมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ แต่ไม่สำเร็จการศึกษาเพราะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๘๙๕ มาร์ตอฟได้มีโอกาสพบและสนิทสนมกับเลนินนักลัทธิมากซ์จากวอลกาซึ่งเดินทางมายังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อชี้นำแนวความคิดลัทธิมากซ์แก่กลุ่มศึกษาใต้ดิน เลนินไม่เพียงทำให้สมาชิกกลุ่มศึกษาต่าง ๆ เข้าใจแนวความคิดลัทธิมากซ์อย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่เขายังเปรียบเทียบและวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างแนวความคิดนารอดนิคกับลัทธิมากซ์ ตลอดจนแนะนำงานนิพนธ์ของมากซ์เล่มสำคัญ ๆ ด้วย ในปลาย ค.ศ. ๑๘๙๕ เลนินกับมาร์ตอฟ และนาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา ครุปสกายา (Nadezhda Kenstantinovna Krupskaya)* จึงร่วมกันจัดตั้งสหภาพการต่อสู้แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพ (St.Petersburg Union of Struggle for the Emancipation of the Working Class) ขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวความคิดลัทธิมากซ์และปลุกจิตสำนึกทางการเมืองในหมู่กรรมกร ขณะเดียวกันมาร์ตอฟก็ติดต่อกับอะเล็กซานเดอร์ โปรเตรซอฟ (Alexander Protresov)* นักปฏิวัติอาวุโสซึ่งเขาให้ความนับถือเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน
     อย่างไรก็ตาม ตำรวจสามารถสืบเบาะแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มได้ และในต้นเดือนมีนาคม สมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพการต่อสู้แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพก็ถูกจับกุม มาร์ตอฟ ถูกขังที่คุกเปรดวาริลคา (Predvarilka) เกือบปีก่อนถูกตัดสินเนรเทศไปไซบีเรียเป็นเวลา ๓ ปี ในช่วงก่อนเดินทาง เขารวบรวมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ เพื่อศึกษาบทบาทของขบวนการนารอดนิคระหว่างทศวรรษ ๑๘๗๐-๑๘๙๐ และต่อมาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง Populism Past and Present ก่อนเดินทางไปอยู่ที่ ตูรูฮันสค์ (Turukhansk) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ อันทุรกันดารทางตอนเหนือของไซบีเรีย มาร์ตอฟทราบข่าวการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของกรรมกรทอผ้าที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ นักเคลื่อนไหวซึ่งเป็นสมาชิกของสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงานมีบทบาทสำคัญในการชี้นำการเคลื่อนไหวจนกรรมกรยอมรับว่านักสังคมนิยมคือผู้ที่จะช่วยเหลือปกป้องพวกเขา และ การนัดหยุดงานประสบชัยชนะ มาร์ตอฟจึงตั้งปณิธานว่าจะอดทนรับโทษจนครบวาระโดยไม่หลบหนีและใช้เวลาศึกษาวิเคราะห์สังคมรัสเซียโดยชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการเติบโตของระบบทุนนิยมในรัสเซียในรัชสมัยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II)* และซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III)* ได้ทำให้ประชากรจำนวนหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านระบบซาร์ งานเขียนดังกล่าวใช้ชื่อว่า Contemporary Russia และนับเป็นงานเขียนเรื่องสำคัญเล่มหนึ่งของมาร์ตอฟซึ่งในระยะแรกเผยแพร่เป็นตอน ๆ ในวารสารสังคมนิยมเยอรมัน Neue Zeit ก่อนรวมพิมพ์เป็นเล่ม นอกจากนี้ งานเขียนเรื่องอื่น ๆ ของเขาในช่วงถูกเนรเทศคือ The Workers’ Cause in Russia และ The Red Flag in Russia
     หลังจากพ้นโทษในต้น ค.ศ. ๑๙๐๐ มาร์ตอฟเดินทางมาพบกับเลนินและโปรเตรซอฟที่เมืองปสคอฟ (Pskov) เพื่อร่วมวางโครงการเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกฝังลัทธิมากซ์ให้แก่นักปฏิวัติและชี้นำแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง เลนินกับโปรเตรซอฟจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหารือกับเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* แกนนำองค์การลัทธิมากซ์นอกประเทศ และขอความสนับสนุนเรื่องเงินทุน และการดำเนินการจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* ส่วนมาร์ตอฟจะสำรวจลู่ทางในประเทศเพื่อวางสายงานการติดต่อและกำหนดตัวผู้ปฏิบัติงานในการเผยแพร่ เขาพักพิงในรัสเซียเป็นเวลาเกือบปีเพื่อวางรากฐานของการดำเนินงานต่าง ๆ หน่วยงานที่เขาจัดตั้งขึ้นจึงกลายเป็นฐานปฏิบัติการที่แข็งแกร่งที่สุดไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การจัดพิมพ์เผยแพร่ ตลอดจนเป็นศูนย์ปฏิบัติงานใต้ดินที่สำคัญทางรัสเซียตอนใต้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๑ มาร์ตอฟเดินทางมาสมทบกับเลนินที่เมืองมิวนิกเยอรมนี และร่วมจัดทำ Iskra หนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศเพื่อสร้างเอกภาพทางความคิดในขบวนการปฏิวัติและการผลักดันสร้างพรรคปฏิวัติขึ้น เขายังมักเดินทางไปบรรยายการเมืองตามชุมชนชาวรัสเซียลี้ภัยต่าง ๆ เพื่อโน้มน้าวปัญญาชนให้สนับสนุนแนวทาง ของ Iskra นอกจากนี้ มาร์ตอฟยังเรียกร้องให้นักสังคมนิยมยิวผนึกกำลังกับชนชั้นแรงงานรัสเซียเพื่อรวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคปฏิวัติขึ้นแทนการสร้างพรรคในรูปแบบสมาพันธรัฐในกลุ่มชาวยิวโดยเฉพาะ บทบาทดังกล่าวทำให้มาร์ตอฟได้รับสมญาจากนักสังคมนิยมคนอื่น ๆ ว่าเป็น "โดโบรลูย์บอฟแห่งพรรคปฏิวัติรัสเซีย" (Dobrolyubov of Russian Revolutionary Party) (นิโคไลโดโบรลูย์บอฟเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมคนสำคัญในช่วงทศวรรษ ๑๘๔๐-๑๘๕๐ ซึ่งเรียกร้องให้ปัญญาชนสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อชีวิต)
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ มีการจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แต่ตำรวจคอยเฝ้าดูการเคลื่อนไหวจนทำให้ต้องย้ายไปประชุมกันต่อที่กรุงลอนดอน ในการประชุมครั้งนี้เลนินกับมาร์ตอฟมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกพรรค เลนินเห็นว่าสมาชิกพรรคไม่เพียงต้องยอมรับหลักนโยบายพรรคและให้การสนับสนุนด้านวัตถุปัจจัยเท่านั้นแต่ต้องมีส่วนร่วมกิจกรรมในฐานะสมาชิกองค์การหนึ่งองค์การใดของพรรคด้วย ส่วนมาร์ตอฟเห็นว่าเพียงยอมรับหลักนโยบายพรรคและให้การสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอภายใต้การชี้นำขององค์การใดองค์การหนึ่งของพรรคก็เพียงพอแล้วและไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกในองค์การพรรคก็ได้ นอกจากนี้ การที่เลนินเสนอให้ลดจำนวนคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Iskra จากเดิม ๖ คนให้เหลือเพียง ๓ คนก็ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นเพราะมาร์ตอฟและตรอตสกีซึ่งสนับสนุนเขาต้องการให้คงจำนวนคณะบรรณาธิการชุดเดิมไว้ เนื่องจากเห็นว่าการปลดนักปฏิวัติอาวุโส ๓ คนออกเป็นการแสดงออกที่แล้งน้ำใจและไร้คุณธรรมของเลนิน ในการลงคะแนนตัดสิน กลุ่มที่สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมากจึงได้ชื่อว่า บอลเชวิค (Bolsheviks)* ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนมาร์ตอฟซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยก็ถูกเรียกว่าเมนเชวิคแม้ การประชุมใหญ่ครั้งนี้จะสามารถก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นได้สำเร็จแต่ก็เกิดแตกแยกเป็น ๒ กลุ่มอย่างไม่เป็นทางการภายในพรรคเดียวกัน
     หลังการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ มาร์ตอฟแยกทางกับเลนินและปฏิเสธที่ จะปรับความเข้าใจกัน เขาจัดพิมพ์จุลสารฉบับหนึ่งวิพากษ์โจมตีเลนินอย่างรุนแรง เลนินจึงเขียนหนังสือ One Step For-ward, Two Steps Backward ( ค.ศ. ๑๙๐๔) ตอบโต้มาร์ตอฟและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมใหญ่อย่างละเอียด แนวความคิดของเลนินที่เสนอไว้ต่อมากลายเป็นรากฐานทางการจัดตั้งทางความคิดของพรรคบอลเชวิคและเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติในช่วงก้าวผ่านจากการปฏิวัติชนชั้นนายทุนไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๗ มาร์ตอฟเน้นนโยบายการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ รวมทั้งพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมตลอดจนสนับสนุนการเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมือง เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ขึ้นในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* และ เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ มาร์ตอฟสนับสนุนการก่อตั้งสภาโซเวียตของกรรมกร (Soviet of Workers) ซึ่งเป็นองค์การปกครองตนเองของกรรมกรขึ้นเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาลซาร์ ขณะเดียวกันเขาก็ร่วมมือกับตรอตสกีออกหนังสือพิมพ์ Nachalo เพื่อเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลซาร์อย่างไรก็ตาม ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงหาทางแก้ไขสถานการณ์ด้วยการประกาศ "คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม" (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม โดยสัญญาจะให้มีการเลือกตั้งและให้จัดตั้งสภาดูมา (Duma)* เพื่อปฏิรูปการปกครองคำแถลงนโยบายเดือนตุลาคมจึงเปิดโอกาสให้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้รวมทั้งต่อมาก็กวาดล้างสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกรแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและตามเมืองต่าง ๆ มาร์ตอฟจึงปรับแนว ทางการเคลื่อนไหวใหม่ด้วยการส่งผู้แทนเมนเชวิคเข้ารับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาดูมาโดยมีนโยบายร่วมมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ และเคลื่อนไหวต่อสู้ในระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หลังการยุบสภาดูมาสมัยที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาลี้ภัยไปต่างประเทศ
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ขึ้นที่ กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกียเพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียระหว่างกลุ่มบอลเชวิคกับเมนเชวิคแต่ก็ประสบกับความล้มเหลว ที่ ประชุมมีมติให้ขับกลุ่มเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย และถือว่ากลุ่มบอลเชวิคคือพรรคผู้แทนอย่างเป็นทางการของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียโดยมีชื่อเรียกใหม่ว่า "พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค)" มาร์ตอฟไม่ยอมรับมติของที่ประชุมและเรียกร้องให้จัดประชุมขึ้นใหม่ที่กรุงเวียนนาใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ขณะเดียวกันเขาก็เรียกชื่อกลุ่มของเขาว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (เมนเชวิค) อย่างไรก็ตาม ในการประชุมที่กรุงเวียนนานั้น บอลเชวิคปฏิเสธที่ จะเข้าร่วมประชุมด้วยและมีเพียง กลุ่มเมนเชวิคและผู้แทนองค์การพรรคอื่น ๆ อีก ๓ แห่งเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมไม่มีมติที่ชัดเจนในเรื่องความขัดแย้งในขบวนการปฏิวัติและเพียงให้ร่วมกันดำเนินงานต่อไปอย่างใกล้ชิดเท่านั้น กลุ่มที่เข้าร่วม ประชุมครั้งนี้ในเวลาต่อมาเรียกชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรสิงหาคม (August Bloc)
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ มาร์ตอฟร่วมกับตรอตสกีจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ Golos คัดค้านสงครามและรณรงค์ให้กลุ่มสังคมนิยมรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้น แต่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดระหว่างมาร์ตอฟกับตรอตสกีเรื่ององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ก็ทำให้มาร์ตอฟถอนตัวจากการเป็นบรรณาธิการร่วมและปัญหาเงินทุนก็มีส่วนทำให้หนังสือพิมพ์ต้องปิดตัวลงในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งแรก (First Socialist International Conference) ขึ้นที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) หมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณเทือกเขาสวิสซึ่งไม่ห่างจากเมืองเบิร์น (Berne) สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๕-๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ มาร์ตอฟซึ่งเข้าร่วมประชุมได้ปรับความเข้าใจกับตรอตสกี และสนับสนุนเขาในนโยบายให้ยุติสงครามโดยปราศจากทั้งผู้แพ้และผู้ชนะโดยยึดหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชน (self-determination of people) และไม่มีทั้งการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม เขาไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของเลนินในการใช้วิกฤตการณ์สงครามดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิวัติและช่วงชิงอำนาจการเป็นผู้นำจากรัฐบาล
     หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจ (dual power) ระหว่างสภาโซเวียตกับรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกออร์กี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Georgy Yevgenyevich Lvov)* เป็นผู้นำ อีรัคลี เซเรเตลี (Irakly Tsereteli) ผู้นำพรรคเมนเชวิคปีกซ้ายซึ่งกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาโซเวียตสนับสนุนให้ร่วมมือกับรัฐบาลเฉพาะกาล ส่วนมาร์ตอฟซึ่งเดินทางกลับเข้ารัสเซียในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ล่าช้ากว่าผู้นำสังคมนิยมอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เขาคาดหวังว่าในการประชุมใหญ่ของเมนเชวิคในเดือนกรกฎาคมเขาจะสามารถโน้มน้าวสมาชิกพรรคให้ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล มาร์ตอฟจึงเพียงรวบรวมสมาชิกที่เห็นด้วยกับเขาตั้งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านขึ้นภายในพรรค อย่างไรก็ตาม เซเรเตลีก็ยังคงสามารถชักจูงสมาชิกส่วนใหญ่ให้สนับสนุนเขาได้ มาร์ตอฟจึงหันมาดำเนินนโยบายคอยตรวจสอบการดำเนินงานของสภาโซเวียตและโจมตีนโยบายการทำสงครามของอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล
     เมื่อเกิดเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affairs)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* พยายามก่อกบฏเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นปกครองประเทศแต่ประสบความล้มเหลว หลังเหตุการณ์ครั้งนี้กลุ่มบอลเชวิคมีอิทธิพลและบทบาทมากขึ้นในสภาโซเวียตในขณะที่เมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party) เริ่มหมดบทบาทลง เลนินจึงเห็นว่าเงื่อนไขการก่อการปฏิวัติสุกงอมพอที่จะยึดอำนาจทางการเมือง แต่ข่าวการเตรียมยึดอำนาจก็แพร่งพรายไปสู่สาธารณชนเพราะเลฟ คาเมเนียฟ (Lev Kamenev)* และ กรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* แกนนำคนสำคัญซึ่งไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจเปิดเผยเรื่องดังกล่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ มาร์ตอฟก็ต่อต้านแผนการยึดอำนาจอย่างมากและเรียกร้องให้เคลื่อนไหวยึดอำนาจด้วยแนวทางสันติวิธีตามวิถีของระบบรัฐสภา เขาเสนอให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ผนึกกำลังกันจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นโดยเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ แต่ข้อเรียกร้องของเขาก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก
     หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ มาร์ตอฟเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ ประกอบด้วยพรรคการเมืองสังคมนิยมต่าง ๆ แต่ประสบความล้มเหลว มาร์ตอฟและสมาชิกเมนเชวิคจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนเขาจึงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐบาลโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นและกลายเป็นกลุ่มฝ่ายค้าน แม้มาร์ตอฟจะดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ก็สนับสนุนบอลเชวิคใน การทำสงครามต่อสู้กับกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวและกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้าแทรกแซงรัสเซียในสงครามกลางเมืองรวมทั้งนโยบายสร้างประเทศให้เป็นสังคมนิยมของเลนิน อย่างไรก็ตาม มาร์ตอฟก็ต่อต้านมาตรการรุนแรงที่บอลเชวิคใช้ปราบปรามประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทั้งไม่เห็นด้วยอย่างมากกับแนวทางปฏิบัติของเชกา (Cheka)* หรือหน่วยตำรวจลับ
     ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อเลนินถูกลอบสังหารแต่รอดชีวิตและลูกกระสุนทับเส้นประสาทซึ่งในเวลาต่อมามีส่วนทำให้เขาเป็นอัมพาต พรรคบอลเชวิคจึงใช้เหตุการณ์ลอบสังหารเลนินกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด สื่อสิ่งพิมพ์ของเมนเชวิคและหน่วยงานพรรคถูกยุบ สมาชิกเมนเชวิคถูกจับกุมและประหาร และบ้างหันมารวมเข้ากับบอลเชวิค มาร์ตอฟจึงลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลินและทำงานเป็นบรรณาธิการวารสาร Sotisialistichesky Vestnik ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าเป็นวารสารแนวหน้าของกลุ่มนักสังคมประชาธิปไตยยุโรปปีกซ้าย แม้มาร์ตอฟจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของบอลเชวิคในการปกครองประเทศแต่เขาก็ไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านเนื่องจากเกรงว่าการสนับสนุนหรือต่อต้านของเขาจะนำไปสู่การก่อตัวของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติซึ่งจะมีส่วนทำลายอำนาจของบอลเชวิค มาร์ตอฟจึงอยู่บนเส้นทางสองแพร่งระหว่างการมีคุณธรรมของการปฏิวัติกับการสร้างเสริมอำนาจที่แข็งแกร่งให้แก่บอลเชวิค เขาจึงได้รับการยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นเสมือน "จิตสำนึกที่แท้จริงแห่งการปฏิวัติรัสเซีย" (the real conscious of the Russian Revolution) ยูลีโอซิโปวิชมาร์ตอฟถึงแก่กรรมที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๓ ขณะอายุ ได้ ๕๐ ปี.



คำตั้ง
Martov, Yuly Osipovich
คำเทียบ
นายยูลี โอซิโปวิช มาร์ตอฟ
คำสำคัญ
- ปราก, กรุง
- ลวอฟ, เกออร์กี เยฟเกเนียวิช, เจ้าชาย
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- ซิมเมอร์วัลด์
- สภาดูมา
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- กลุ่มพันธมิตรสิงหาคม
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- อัคเซลรอด, ปาเวล โบรีโซวิช
- พรรคเมนเชวิค
- ตรอตสกี, เลออน
- มาร์ตอฟ, ยูลี โอซีโปวิช
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- เลนิน, มาร์ตอฟ วลาดีมีร์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ครุปสกายา, นาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, กรุง
- เซเดียร์บาอุม
- ทุน
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- รัสเซียปอปปูลิสต์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- บาเบิฟ, ฟรองซัว
- โรแบสปีแยร์, มักซีมีเลียง
- มากซ์, คาร์ล
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- โอเดสซา, เมือง
- ปสคอฟ, เมือง
- ตูรูฮันสค์
- เปรดวาริลคา, คุก
- โปรเตรซอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- เฮอร์เซน, อะเล็กซานเดอร์ อีวาโนวิช
- เหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- เซกา
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒, ซาร์
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓, ซาร์
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- บอลเชวิค
- กลุ่มสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1873-1923
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๖-๒๔๖๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf